Onuma Sing คาบ15

ความปลอดภัยแห่งศตวรรษที่ 21

เวลาพูดถึง “ความปลอดภัย” รัฐบาลมักจะใช้คำนี้เพื่อสื่อถึงความมั่นคงของประเทศ เช่น การป้องกันประเทศจากภัยก่อการร้าย ส่วนบริษัทจะใช้คำนี้เพื่อสื่อถึงการคุ้มครองทรัพย์สินของบริษัทจากอาชญากรหรือบริษัทคู่แข่ง แต่สำหรับพลเมืองดิจิทัลแล้ว ความปลอดภัยหมายถึงชุดความรู้ในการปกป้องตนเองจากความเสี่ยงที่จะถูกขโมยทรัพย์สิน ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงอัตลักษณ์ โดยความปลอดภัยออนไลน์นั้นแยกไม่ออกจากความเป็นส่วนตัว และต้องพิจารณาควบคู่กันเสมอ เพราะชีวิตเราคงไม่ปลอดภัยนักหากมีคนมาเก็บข้อมูลส่วนตัวของเราและเผยแพร่ออกไป 

โลกอินเทอร์เน็ตก็ไม่ต่างจากโลกจริงที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง อาทิเช่น การสอดแนมความเป็นส่วนตัว อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ การกลั่นแกล้งออนไลน์ เนื้อหาที่มีความรุนแรงทางเพศและประทุษวาจา พลเมืองดิจิทัลต้องตระหนักและเรียนรู้วิธีรับมือกับความเสี่ยงใหม่ๆ ไม่ปล่อยให้ใครมาสอดแนมหรือสะกดรอยตามเรา หรือไม่ปล่อยให้ใครมาขโมยของสำคัญของเราได้ ซึ่งของสำคัญที่อาชญากรออนไลน์ส่วนมากต้องการจากเราก็คือ ข้อมูลส่วนบุคคลและรหัสผ่านเข้าสู่บัญชีออนไลน์ เช่น บัญชีเฟสบุ๊ค หรือธนาคารออนไลน์ 

ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์นับเป็นประเด็นสำคัญที่พลเมืองดิจิทัลต้องเรียนรู้ไว้ไม่ต่างจากการสร้างความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในโลกจริง ในบทนี้เราจะมาทำความรู้จักความเสี่ยงออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ และเรียนรู้วิธีการเพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว 

 

ความปลอดภัยในโลกดิจิทัล

 

บ่อยครั้งเราปล่อยให้เรื่องที่ดูเล็กๆ มารุกรานความปลอดภัยของเรา เช่น การแปะรหัสผ่านไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การไม่ตั้งรหัสล็อกโทรศัพท์มือถือ หรือการใช้อินเทอร์เน็ตที่ห้องสมุดแล้วลืมออกจากระบบ และเราก็อาจจะเจอการหลอกลวงด้วยเทคนิคขั้นสูง เช่น การปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์เพื่อหลอกเอาชื่อบัญชีและรหัสผ่านของธนาคารออนไลน์ หรือการปล่อยมัลแวร์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของเรา 

หัวข้อต่างๆ ที่นำเสนอในส่วนนี้จะช่วยให้เราใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยไร้กังวลมากขึ้น

 

การตั้งรหัสผ่านและวิธีจัดการ

ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากมีคนแอบขโมยรหัสผ่านของเราไป เขาอาจเข้าไปสอดส่องข้อมูลและลบทุกอย่างทิ้งหมด อาจเข้าไปทำธุรกรรมออนไลน์จนเราสูญเงินมากมาย อาจปลอมตัวเป็นคุณและส่งอีเมลที่ไม่พึงประสงค์ไปให้กับเพื่อนของเรา หรืออาจเข้าไปเปลี่ยนรหัสผ่านของบัญชีต่างๆ จนเราเข้าถึงบริการไม่ได้

วิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ตคือ ให้ตั้งรหัสผ่านที่รัดกุมและคาดเดาได้ยาก ทุกวันนี้ แฮ็กเกอร์ใช้ระบบคอมพิวเตอร์สุ่มสร้างรหัสผ่านได้นับล้านครั้งภายในหนึ่งวินาที และเดาคำจากพจนานุกรมทั้งเล่มได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง การเรียนรู้เทคนิคตั้งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดาจึงถือเป็นความรู้พื้นฐานสำคัญในการสร้างความปลอดภัยออนไลน์

เทคนิคการตั้งรหัสผ่านง่ายๆ มีดังนี้1  

  • รหัสควรมีความยาวอย่างน้อย 8 อักขระขึ้นไป 
  • สร้างรหัสที่ประกอบด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก ตัวเลข และสัญลักษณ์ผสมกัน 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลส่วนตัวที่คาดเดาได้ง่ายและไม่เป็นความลับ เช่น วันเกิด บ้านเลขที่ เลขผู้เสียภาษี ทะเบียนรถ เบอร์โทรศัพท์ หรือชื่อเล่น ชื่อสัตว์เลี้ยง ชื่อโรงเรียน ชื่อทีมกีฬาทีมโปรด
  • หลีกเลี่ยงคำศัพท์ที่เป็นคำสามัญทั่วไป (คำที่ปรากฏในพจนานุกรม) เช่น CAT, DOG, LOVE 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ตัวอักษรหรือตัวเลขเรียงกันตามลำดับ เช่น ABCD 1234 หรือการเรียงรหัสตามตำแหน่งคีย์บอร์ด เช่น QWERT 
  • เทคนิคการตั้งรหัสผ่าน: สร้าง “วลีรหัสผ่าน” ด้วยประโยคที่เราคุ้นเคย เช่น I met Som in Chiang Mai in 2008. แล้วนำอักษรตัวแรกของแต่ละคำมาสร้างรหัสผ่านและเปลี่ยนบางคำให้เป็นสัญลักษณ์ (ImS@CM#2008) เทคนิคนี้ช่วยสร้างรหัสผ่านที่รัดกุม หลากหลาย และจำได้ง่าย

นอกจากเทคนิคการสร้างรหัสแล้ว เราควรคำนึงถึงแนวทางจัดการกับรหัสผ่านดังนี้ 

  • ไม่แชร์รหัสกับใครทั้งนั้น (ยกเว้นพ่อแม่หรือผู้ปกครองในกรณีที่เป็นผู้เยาว์) 
  • หากจำเป็นต้องจดรหัสผ่านกันลืมจริงๆ ให้เก็บไว้ในที่ปลอดภัย ไม่วางไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ง่าย เช่น ข้างจอคอมพิวเตอร์หรือบนโต๊ะ
  • ตั้งรหัสให้แตกต่างกันในบัญชีสำคัญแต่ละบัญชี เช่น บัญชีเฟสบุ๊ค อีเมล ธนาคารออนไลน์ เพราะการใช้รหัสเหมือนกันหมดในทุกบัญชีหมายความว่า ถ้ามีคนรู้รหัสผ่านของบริการออนไลน์หนึ่งๆ ก็จะสามารถเข้าถึงบริการออนไลน์อื่นๆ ที่สำคัญได้โดยปริยาย 
  • เลือกผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือและให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะบริการสำคัญ เช่น บริการด้านการเงินที่อนุญาตให้ตั้งรหัสยาวพอและรองรับการเข้ารหัส HTTPS
  • ตั้งค่าแจ้งเตือนหากมีใครล็อกอินเข้าบัญชีของเราจากเครื่องที่ไม่รู้จัก 
  • เปลี่ยนรหัสทุกครั้งเมื่อสงสัยว่ามีกิจกรรมไม่ปกติเกิดขึ้น เช่น มีการเข้าสู่บัญชีของเราจากคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เราไม่คุ้นเคย 
  • ตั้งค่าการกู้คืนรหัสผ่าน บริการส่วนมากจะให้เราใส่เบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลสำหรับส่งรหัสผ่านไปให้ใหม่หรือเพื่อรีเซ็ตรหัสผ่านใหม่ เมื่อต้องการกู้คืนหรือเปลี่ยนรหัสผ่าน
  • เปิดใช้ระบบการพิสูจน์ตัวตนที่ปลอดภัยมากขึ้น เช่น การพิสูจน์ตัวตนสองระดับ (two-factor authentication) คือระบบที่ต้องพิสูจน์ตัวตนผ่านข้อมูลสองประเภทก่อนจึงจะล็อกอินเข้าระบบได้ เช่น รหัสผ่านและลายนิ้วมือ หรือที่เป็นที่นิยมกันมากคือการพิสูจน์ตัวตนด้วยรหัสผ่านและโทรศัพท์มือถือ ที่นอกจากต้องใส่รหัสผ่านแล้ว ระบบจะส่งรหัสเฉพาะที่หมดอายุภายในไม่กี่นาทีไปที่โทรศัพท์มือถือ (เรียกว่า OTP) เพื่อใช้ยืนยันตัวตนอีกขั้นหนึ่ง ดังนั้นแม้ผู้ไม่หวังดีจะแอบรู้รหัสผ่านของเรา ก็ไม่สามารถเข้าสู่บัญชีได้ เนื่องจากต้องใช้ทั้งสิ่งที่เรารู้ (รหัสผ่าน) และสิ่งที่เรามี (โทรศัพท์มือถือ) ในการยืนยันตัวตน

 

การใช้อินเทอร์เน็ตในที่สาธารณะ

การใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับผู้อื่นนั้นมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยค่อนข้างมาก ข้อมูลการล็อกอินและข้อมูลส่วนตัวของเราอาจหลงเหลืออยู่ในเครื่องและถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ เช่น ถ้าเราเปิดบัญชีอีเมลทิ้งไว้ คนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้ และต่อให้เราระวังโดยออกจากระบบและล้างข้อมูลหมดแล้ว ก็อาจมีฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่สามารถดักจับข้อมูลของเราได้ 

เพื่อเป็นการป้องกันข้อมูลสำคัญเมื่อจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะ เช่น คอมพิวเตอร์ในห้องสมุด แล็บท็อปของที่ทำงาน หรือโทรศัพท์มือถือของเพื่อน เราควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้

  • หลีกเลี่ยงการล็อกอินเข้าบริการที่สำคัญ เช่น อีเมล โซเชียลมีเดีย และธนาคารออนไลน์ 
  • เลือกใช้โหมดส่วนตัวในบราวเซอร์ เช่น โหมด Incognito ในกูเกิลโครม (เลือกคำสั่ง “หน้าต่างใหม่และไม่ระบุตัวตน” หรือกด Ctrl + Shift + N) หรือ Private Browsing ในไฟร์ฟ็อกซ์ (เลือกคำสั่ง “หน้าต่างส่วนตัวใหม่” หรือกด Ctrl + Shift + P) และปิดบราวเซอร์ทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จ
  • ออกจากระบบทุกครั้งหลังใช้งานและไม่ตั้งค่าให้เครื่องจำรหัสผ่านหรือสถานะของผู้ใช้ 
  • ไม่บันทึกไฟล์ข้อมูลสำคัญลงในเครื่องคอมพิวเตอร์สาธารณะ 
  • ตรวจสอบตัวดักข้อมูล (keylogger หรือ keystroke logger เป็นได้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งจะบันทึกการกดแป้นพิมพ์เพื่อขโมยข้อมูลสำคัญของเรา เช่น รหัสผ่านธนาคารออนไลน์) แบบฮาร์ดแวร์ โดยดูว่ามีสายไฟแปลกๆ ที่เชื่อมคีย์บอร์ดกับช่องเสียบด้านหลังคอมพิวเตอร์อยู่หรือไม่ ถ้ามีอุปกรณ์ที่ไม่แน่ใจเสียบอยู่ ให้สงสัยว่าเป็นตัวดักข้อมูล และหลีกเลี่ยงการใช้งานที่สุ่มเสี่ยง

 

การเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะ

นอกจากพึงระวังเรื่องความปลอดภัยเวลาใช้คอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่ของตนแล้ว เวลาเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไร้สายสาธารณะ เช่น ใช้ไว-ไฟตามร้านกาแฟ เราก็ต้องระวังไม่แพ้กัน เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออยู่จะเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดที่เราดาวน์โหลดหรือส่งออกไปยังเครื่องอื่นๆ ทางอากาศ ดังนั้นหากผู้ใช้ไม่ได้เข้ารหัสข้อมูลไว้ดีพอ กระทั่งแฮ็กเกอร์มือสมัครเล่นก็สามารถดักจับข้อมูลได้ไม่ยาก

การเข้ารหัสจะช่วยให้ข้อมูลที่ถูกส่งไปเป็นความลับแม้จะถูกดักจับระหว่างทาง เพราะถึงดักจับได้ก็อ่านไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเมื่อใช้ไว-ไฟสาธารณะคือ 

  • พยายามหลีกเลี่ยงการล็อกอินเข้าใช้บริการสำคัญๆ เช่น การลงชื่อเข้าใช้บัญชีอีเมล สั่งซื้อของ หรือโอนเงินผ่านระบบธนาคารออนไลน์ เนื่องจากอาจมีคนดักจับรหัสผ่านหรือข้อมูลการเงิน
  • ดูว่าเว็บไซต์ที่เราจะเข้ารองรับการเข้ารหัสหรือไม่ โดยให้สังเกตที่ยูอาร์แอล (URL หรือ Uniform Resource Locator คือที่อยู่ซึ่งใช้ระบุแหล่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เช่น https://pantip.com/ สำหรับการเข้าถึงเว็บไซต์พันทิป) ว่ามีคำว่า HTTPS (S ตัวท้ายย่อมาจาก Secure หมายถึงเวอร์ชั่นที่ปลอดภัยมากขึ้นของ HTTP) ซึ่งเป็นการเข้ารหัสจากเครื่องของเราไปยังเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง

 

 

การป้องกันการเข้าถึงผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่

ทุกวันนี้เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต และเราสามารถทำกิจกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นในอุปกรณ์มือถือได้เกือบหมด สิ่งที่เป็นข้อกังวลคือ เมื่อการเข้าถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่เท่ากับการเข้าถึงบัญชีของบริการออนไลน์บนมือถือที่เราเลือกใช้โดยอัตโนมัติ เช่น บัญชีเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ การปกป้องการเข้าถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่จึงทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในโลกแห่งการเชื่อมต่อไร้สาย 

เราสามารถเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ดังนี้2

  • การตั้งค่าล็อกอุปกรณ์เคลื่อนที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่จะมีระบบล็อกพิน (pin) และระบบล็อกรหัสผ่าน (password) ในรูปแบบต่างๆ ข้อควรระวังคือ
    • พิน: ไม่ควรใช้เลขเรียงกัน หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่คนคาดเดาได้ง่าย เช่น วัน/เดือน/ปีเกิด บ้านเลขที่ 
    • รูปแบบการลากเส้น: อย่าเลือกรูปแบบที่เดาง่าย เช่น รูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม รวมถึงควรซ่อนรูปแบบขณะลากเส้นเพื่อป้องกันผู้อื่นเห็น 
    • การดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น: เราควรระมัดระวังการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นและไฟล์ในมือถือ เพราะอาจเป็นอันตรายต่ออุปกรณ์และข้อมูลส่วนตัว เช่น แอปพลิเคชั่นบางตัวพยายามเข้าถึงบัญชีส่วนตัวของเรา ดังนั้นเราควรดาวน์โหลดเฉพาะแอปพลิเคชั่นจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น จาก Play Store หรือ App Store  รวมถึงควรอ่านความคิดเห็นด้านความปลอดภัยของคนที่เคยดาวน์โหลดไปก่อนหน้า 
    • การอัปเดตระบบในอุปกรณ์เคลื่อนที่: อุปกรณ์เคลื่อนที่จะมีระบบแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดอุปกรณ์เวอร์ชั่นล่าสุด เราควรอัปเดตอุปกรณ์เสมอ เพราะเวอร์ชั่นล่าสุดมักแก้ไขช่องโหว่เรื่องความปลอดภัยในระบบเก่า

 

ระวังสารพัดกลโกงออนไลน์

โลกไซเบอร์มีสิ่งดีๆ มากมาย แต่ก็มีสารพัดกลโกงออนไลน์เช่นกัน สิ่งที่เราพบเห็นในโลกออนไลน์ไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือน่าเชื่อถือทั้งหมด กระทั่งอาจมุ่งร้ายเพื่อหลอกลวงและขโมยข้อมูลสำคัญของเรา ดังนั้นพลเมืองดิจิทัลต้องรู้จักแยกแยะว่าอะไรคือข้อความที่หลอกลวง เท่าทันเทคนิคที่ใช้ในการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองจากสารพัดกลลวง

อันที่จริงกลโกงในโลกออนไลน์ส่วนมากไม่ได้ใช้เทคนิคซับซ้อนเหมือนที่เราเห็นในภาพยนตร์ล้ำยุค แต่เล่นกับความรู้สึกของเราเป็นหลัก กลวิธีหลักๆ ที่พบเห็นได้บ่อยมีดังนี้  

  • สร้างสถานการณ์เร่งด่วนหรือเอาผลประโยชน์มาล่อเพื่อให้เราโอนเงินหรือบอกข้อมูลส่วนบุคคล ยกตัวอย่างเช่น อีเมลแจ้งว่าเราถูกล็อตเตอรี่ออนไลน์ ได้รางวัลหลายสิบล้าน แต่ต้องโอนเงินบางส่วนไปเป็นค่าดำเนินการ หรืออาจจะแนบเนียนยิ่งขึ้น เช่น แอบอ้างว่ามาจากธนาคารโดยตั้งชื่ออีเมลคล้ายกับอีเมลของธนาคารจริง จากนั้นก็ขอให้ส่งรหัสผ่านกลับไป หรือในบางกรณีที่คนรู้จักของเราถูกแฮ็กบัญชีอีเมล เราอาจได้รับอีเมลแจ้งว่าตอนนี้เขาอยู่ต่างประเทศ และทำกระเป๋าหาย ขอให้ช่วยโอนเงินไปด่วน 
  • การสร้างเว็บไซต์ที่ล่อลวงให้เราเข้าใจผิดว่าเป็นเว็บไซต์จริง และหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลอย่างรหัสผ่านหรือหมายเลขบัตรเครดิต 
  • การสร้างป๊อปอัปมาแจ้งว่าเราติดมัลแวร์และให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ต้านไวรัส ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นมัลแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่ไม่พึงประสงค์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล

 

 

 

หากเจอกับกลลวงออนไลน์ทั้งหลาย เราควรทำตามแนวทางดังนี้

  • ลองพินิจพิจารณาให้ดีว่า ข้อเสนอหรือรางวัลที่ได้รับทางอีเมลหรือเว็บไซต์ “ดีเกินจริง” หรือเปล่า เช่น อยู่ดีๆ ใครจะให้เงินเราเป็นสิบล้าน หรือเสนอไอโฟนรุ่นใหม่ให้เราฟรีๆ
  • อย่าโอนเงินหรือให้รายละเอียดบัตรเครดิต บัญชีธนาคาร หรือเอกสารส่วนบุคคลกับใครก็ตามที่เราไม่รู้จักก่อนตรวจสอบให้แน่ใจ
  • ตรวจสอบที่มาของอีเมล เช่น เข้าเว็บไซต์ทางการเพื่อติดต่อสอบถาม หรือลองเอาเนื้อหาอีเมลไปใส่ในเครื่องมือค้นหา ส่วนมากการหลอกลวงเหล่านี้จะมีคนเคยรายงานเอาไว้ 
  • ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ด้วยการเช็คว่าสะกดยูอาร์แอลถูกต้องและมีอะไรผิดสังเกตหรือเปล่า เช่น เปลี่ยนตัวอักษร O เป็นเลข 0 รวมถึงตรวจสอบว่าเว็บไซต์ใช้การเข้ารหัสแบบ HTTPS หรือมีอะไรรับรองความน่าเชื่อถือหรือไม่ เช่น มีตราสัญลักษณ์รับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ 
  • อัปเดตบราวเซอร์ให้อยู่ในเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่เสมอ เพราะบราวเซอร์รุ่นใหม่จะมีการปรับปรุงระบบป้องกันให้ดีขึ้น 
  • หากพบว่าเป็นอีเมลหลอกลวง ให้ลบอีเมลนั้นทิ้ง ห้ามส่งต่ออีเมลหรือแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย และหาทางรายงานการต้มตุ๋มผ่านช่องทางที่เหมาะสม เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกเข้าให้แล้ว เราควรเปลี่ยนรหัสบัญชีออนไลน์ทันที แจ้งให้เพื่อนที่อาจตกเป็นกลุ่มเป้าหมายระวังตัว และแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน

 

การติดต่อโดยคนแปลกหน้า

การติดต่อโดยคนแปลกหน้าดูจะเป็นเรื่องธรรมดาในสื่อสังคมเครือข่าย แต่ตอนจบอาจลงเอยด้วยอันตรายที่เกิดขึ้นจริงกับตัว เช่น การคุกคามทางเพศ การทำร้ายร่างกาย แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เรามีแนวทางในการยืนยันอัตลักษณ์ของคนที่มาติดต่อเราและค้นหานักต้มตุ๋นออนไลน์ดังนี้5 

  • รูปโปรไฟล์ดูน่าสงสัยหรือไม่: เราควรสงสัยคนที่ใช้รูปโปรไฟล์เบลอหรือเห็นไม่ชัดไว้ก่อน หรือคนที่แอบเอารูปของคนอื่นที่มีตัวตนจริงๆ มาใช้เป็นรูปโปรไฟล์ 
  • ชื่อที่แสดงตรงกับบัญชีผู้ใช้หรือเปล่า: เราตรวจสอบได้ว่าชื่อที่ใช้แสดงตรงกับชื่อที่ปรากฏในยูอาร์แอลหรือไม่ 
  • มีรายละเอียดประวัติส่วนบุคคลหรือไม่: บัญชีปลอมโดยมากมักจะไม่ค่อยใส่รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองเท่าไหร่ แต่ถ้ามีรายละเอียด ก็ควรตรวจสอบว่ารายละเอียดเหล่านั้นดูเป็นจริงขนาดไหน 
  • มีการเปิดใช้บัญชีมานานแค่ไหน: บัญชีปลอมมักจะไม่ค่อยมีการโพสต์และปฏิสัมพันธ์มากนัก

 

การกลั่นแกล้งออนไลน์ 

การกลั่นแกล้งออนไลน์ (cyberbullying) คือการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้อื่น เช่น การส่งข้อความ การโพสต์ลงสื่อเครือข่ายสังคม อินเทอร์เน็ตไม่เพียงแต่ขยับขยายการกลั่นแกล้งแบบเดิมๆ ให้เกิดขึ้นได้ในโลกออนไลน์แบบไม่จำกัดพื้นที่และเวลา แต่ยังทำให้เกิดรูปแบบการกลั่นแกล้งใหม่ๆ เช่น การล้อเลียนผ่านสื่อโซเชียล นอกจากนั้น ผลกระทบจากการกลั่นแกล้งออนไลน์ยังกว้างไกลและคงอยู่นานกว่าเดิม เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้เราสามารถแชร์และสืบค้นเนื้อหาได้ง่ายขึ้น รวมถึงเนื้อหาในโลกออนไลน์จะคงอยู่ตลอดไป 

โลกอินเทอร์เน็ตที่เปิดให้เราโพสต์ แชร์ หรือโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย บางทีอาจทำให้เราไม่ทันได้คิดถึงผลกระทบของสิ่งที่เราพูดหรือทำลงไป เราควรไตร่ตรองให้รอบคอบถึงผลกระทบจากการกระทำใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับผู้อื่นและตนเอง นอกจากนั้น แม้เราจะไม่ได้เป็นต้นตอของเนื้อหาที่เข้าข่ายการกลั่นแกล้งออนไลน์ แต่การส่งเสริมเนื้อหาดังกล่าว เช่น การพิมพ์คอมเมนต์ การแชร์ การหัวเราะเยาะ หรือการซุบซิบนินทา ก็ถือเป็นการทำร้ายผู้อื่นเช่นกัน

ตัวอย่างของการกลั่นแกล้งออนไลน์รวมถึง6

  • การโพสต์วิดีโอที่น่าอับอายของคนอื่นในบริการฝากวิดีโอ เช่น ยูทูบหรือเฟสบุ๊ค
  •  การส่งข้อความหรืออีเมลที่มีเนื้อหาคุกคามหรือน่ารังเกียจให้กับผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง
  •  การโพสต์เนื้อหาที่คุกคามหรือมุ่งทำให้ผู้อื่นอับอายในโซเชียลมีเดีย
  • การสร้างบัญชีในโซเชียลมีเดียสำหรับล้อเลียนคนอื่นเป็นการเฉพาะ 
  • การถ่ายวิดีโอการทำร้ายร่างกายผู้อื่นผ่านมือถือ แล้วนำไปแชร์ต่อให้คนได้เห็นซ้ำๆ
  • การโพสต์หรือส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต (โดยเฉพาะภาพที่มีเนื้อหาทางเพศของคนอื่น ดังที่เรียกว่า sexting) 
  •  การส่งมัลแวร์ไปทำลายคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น[จบbullet

 

หากต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งออนไลน์ แนวทางในการรับมือมีดังนี้ 

  • ไม่ตอบโต้หรือคิดแก้แค้น เพราะไม่เพียงแต่ทำให้ผู้กลั่นแกล้งได้ใจ แต่ยังทำให้เราไม่ต่างจากผู้ที่กลั่นแกล้งเรา 
  • ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ บริการในอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น อนุญาตให้เราบล็อกคนที่ไม่ต้องการติดต่อได้ ถ้าไม่อยากเห็นข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอที่ทำให้คุณรู้สึกแย่ [วิธีการบล็อก: สำหรับอีเมลของกูเกิล เปิดอีเมลของคนที่คุณต้องการบล็อก > เลือกลูกศรชี้ลงเพื่อเปิดเมนู > เลือก บล็อก “ชื่ออีเมล”  สำหรับเฟสบุ๊ค คลิกที่ลูกศรชี้ลงด้านขวาบนเพื่อเปิดเมนู > เลือกการตั้งค่า > เลือกเมนู การบล็อก (blocking) ทางแถบด้านซ้ายมือ > ใส่รายชื่อของคนที่คุณต้องการบล็อกเข้าไป]
  • ขอความช่วยเหลือ ถ้าคุณรู้สึกไม่สบายใจหรือสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ให้ขอความช่วยเหลือจากคนที่คุณไว้ใจ การมีใครสักคนที่คอยรับฟังปัญหาและหาทางออกร่วมกัน จะช่วยบรรเทาความรู้สึกจากการถูกกลั่นแกล้งได้ แต่ถ้าสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น คุณควรปรึกษามืออาชีพ หรือหากการกลั่นแกล้งรุนแรงไปถึงขั้นทำร้ายร่างกายหรือการคุกคามทางเพศ ให้แจ้งตำรวจ 
  • เก็บหลักฐานไว้ การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์นั้นช่วยให้เราเก็บรวบรวมหลักฐานการกลั่นแกล้งไว้ได้ง่าย เช่น การเซฟหน้าจอ เพื่อใช้ในการสืบค้นตัวตนของผู้ที่รังแก (กรณีที่ทำโดยไม่เปิดเผย) หรือเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี 
  • อย่าอยู่เฉยถ้าเห็นผู้อื่นโดนกลั่นแกล้ง ควรให้กำลังใจผู้ที่ถูกรังแกและรายงานเรื่องที่พบเห็นให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง 
  • รายงานการกลั่นแกล้งออนไลน์ไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) หรือผู้ให้บริการมือถือ 
  • เข้าใจว่าต้นเหตุของการกลั่นแกล้งออนไลน์เกิดจากรากของปัญหาสังคม เช่น ความยากจน ครอบครัวแตกสลาย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งออนไลน์ระยะยาวจึงอยู่ที่การแก้ไขที่รากของปัญหาจริงๆ

 

ความเป็นส่วนตัว

 

คุณไม่มีความเป็นส่วนตัวเหลือแล้วล่ะ ทำใจเถอะ 
– สก็อต แมคนีลลี7

 

ความเป็นส่วนตัว (privacy) หมายถึงความสามารถในการกำหนดให้ข้อมูลของเราแสดงต่อกลุ่มคนที่ต้องการให้เห็นหรือเข้าถึงได้ และไม่แสดงต่อกลุ่มคนที่เราไม่ต้องการให้เห็นหรือเข้าถึง อินเทอร์เน็ตทำให้ความเป็นส่วนตัวกลายเป็นประเด็นสำคัญแห่งยุคสมัย เพราะความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการประมวลผล ความจุของหน่วยเก็บข้อมูล และแบนด์วิดธ์ที่เพิ่มมากขึ้น ล้วนเพิ่มประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ตในการดักจับและเก็บร่องรอยกิจกรรมต่างๆ ในโลกออนไลน์ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิผล 

ความเป็นส่วนตัวมีหน้าตาเปลี่ยนไปในยุคดิจิทัลด้วยเหตุผลหลักดังนี้

  • ข้อมูลมีความคงทนถาวรและการเก็บรักษามีราคาถูก: การเก็บข้อมูลในโลกจริงมีต้นทุนที่สูงและไม่ได้มีความคงทนถาวรนัก ตัวอย่างเช่น หากคุณอยากเก็บบันทึกภาพถ่ายทริปครอบครัวเมื่อปลายปี คุณต้องเสียเงินอัดภาพ หาอัลบั้มมาใส่ และสุดท้ายอัลบั้มภาพก็จะเก่าหรือหาไม่เจอ แต่ในโลกดิจิทัล คุณสามารถสร้างอัลบั้มขึ้นมาได้โดยแทบไม่มีต้นทุนและข้อมูลจะคงอยู่ตลอดไป 
  • การเข้าถึงและค้นหาได้ง่าย: เทคโนโลยีจะช่วยให้เราค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น ขณะที่การค้นหาในโลกออฟไลน์ต้องใช้แรงงานมาก ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการค้นหาข่าวในหนังสือพิมพ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คุณต้องเดินทางไปห้องสมุดและค้นหาจากหนังสือพิมพ์เป็นพันเป็นหมื่นฉบับ แต่ถ้าข้อมูลทุกอย่างอยู่ในรูปดิจิทัล การค้นหาและเข้าถึงก็จะทำได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส 
  • การแพร่กระจายและการปรากฏเห็น: เนื้อหาออนไลน์นั้นแชร์ออกไปในวงกว้างได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่ถูกออกแบบมาให้ “แพร่กระจาย” เนื้อหาได้สะดวกขึ้น เช่น แชร์ลิงก์หรือภาพได้ง่ายขึ้น ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่คนจะเห็นเนื้อหาออนไลน์มากขึ้น[จบbullet#]

อินเทอร์เน็ต (โดยเฉพาะสื่อเครือข่ายสังคม) ทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตสาธารณะพร่ามัวลง ผู้คนเริ่มเปิดเผยความคิดและชีวิตส่วนตัวให้กับสังคมในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ วัฒนธรรมการแชร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา นอกจากนั้น กิจกรรมต่างๆ ก็ย้ายเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เราทำธุรกรรมทางการเงินและจับจ่ายใช้สอยผ่านอินเทอร์เน็ต และทิ้งร่อยรอยเกี่ยวกับตนเองไว้ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ โซเชียลมีเดียหรือเครื่องมือค้นหาข้อมูลรู้เรื่องตัวเราดีกว่าคนรอบตัวเราเสียอีก (หรือกระทั่งตัวเราด้วยซ้ำ!) เมื่อบวกกับพลังในการประมวลผลที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น 

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เด็กสาวมัธยมจากรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปซื้อของที่ร้านค้าปลีกทาร์เก็ต และร้านค้าก็ทำนายจากพฤติกรรมการจับจ่ายว่าเธอกำลังตั้งครรภ์อยู่ (เช่น เลือกซื้อโลชั่นไร้กลิ่นและอาหารเสริมมากมาย) จึงส่งคูปองส่วนลดราคาอุปกรณ์สำหรับเด็กไปให้ที่บ้าน เมื่อพ่อของเด็กสาวเห็นจึงไปโวยกับทาร์เก็ต ว่าพยายามล่อล่วงให้ลูกสาวของเขาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร สุดท้ายเด็กสาวคนนั้นตั้งครรภ์จริงๆ เรียกได้ว่าทาร์เก็ตรู้ข่าวนี้ก่อนพ่อแม่ของเธอเสียอีก!

เมื่อความเป็นส่วนตัวเปลี่ยนไปในโลกยุคใหม่ พลเมืองดิจิทัลจึงต้องทำความเข้าใจกับประเด็นนี้ และเรียนรู้วิธีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเรา หลักการทั่วไปมีดังนี้

  • คิดยาวๆ ก่อนโพสต์: ทุกสิ่งที่เราโพสต์ในโลกออนไลน์จะทิ้งร่องรอยดิจิทัลเอาไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจแพร่กระจายไปถึงคนนับหมื่นนับแสนได้ และถูกค้นพบได้แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นถ้าเราไม่อยากให้คนเห็นสิ่งที่โพสต์ในอนาคต เราก็อย่าโพสต์มันในวันนี้
  • อย่าแชร์ข้อมูลส่วนบุคคล: เรียนรู้ว่าข้อมูลอะไรที่ควรเก็บเอาไว้ในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ วันเกิด 
  • กำหนดสิทธิการเข้าดูข้อมูลอย่างจำกัด: เราควรกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลแบบจำกัดไว้ก่อน และระมัดระวังการโพสต์แบบ “สาธารณะ” เพราะใครก็สามารถดูเนื้อหาได้ แถมโพสต์ดังกล่าวใครๆ ก็เข้าถึงได้ผ่านเครื่องมือค้นหา ดังนั้นโพสต์สาธารณะอาจไปถึงบุคคลที่เราไม่ต้องการให้เห็นได้
  • อ่านนโยบายความเป็นส่วนตัวและเรียนรู้วิธีการตั้งค่า: บริการออนไลน์แต่ละแห่งนั้นมีนโยบายและวิธีตั้งค่าความเป็นส่วนตัวแตกต่างกัน เราควรอ่านนโยบายและเรียนรู้วิธีตั้งค่าให้ละเอียดก่อนใช้งาน
  • คำนึงอยู่เสมอว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สาธารณะ (public) มากกว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว (private): กระทั่งข้อมูลที่เป็นส่วนตัวก็สามารถถูกลอกเลียน ทำซ้ำ ปรับเปลี่ยน และส่งต่อไปสู่พื้นที่สาธารณะได้ รวมถึงเครื่องมือค้นหาอันก้าวหน้ายังทำให้ใครก็ตามสามารถสืบค้นข้อมูลดังกล่าวได้
  • เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น: การโพสต์ถึงคนอื่น การแชร์ข้อความของเขา หรือการแท็กชื่อในภาพ อาจกระทบกับความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นได้ ดังนั้นหากไม่แน่ใจ ให้สอบถามผู้อื่นก่อนว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร

 

 

การปกป้องตนเองจากเทคโนโลยีสอดแนม

การสอดส่องชีวิตคนอื่นเคยเป็นงานที่ยากเข็ญและต้องใช้ความพยายามอย่างมาก (ลองนึกถึงเหล่าสายสืบในภาพยนตร์โบราณที่ต้องแฝงตัวเข้าไปขโมยข้อมูลจากแฟ้มเอกสาร) แต่ทุกวันนี้ กิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเว็บ ดูวิดีโอ ส่งอีเมล แสดงความเห็น หรือแชร์ภาพของเพื่อน ล้วนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกสอดส่อง

เราต้องเข้าใจก่อนว่า ข้อมูลที่ถูกส่งผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นต้องผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องกว่าจะเดินทางไปถึงปลายทาง และใครก็ตามที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์ดังกล่าวก็จะมองเห็นข้อมูลของเราได้ เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ดังนั้น หากไอเอสพีไม่รักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ก็อาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้วิเคราะห์เพื่อหาประโยชน์ทางธุรกิจได้

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เรากังวลที่จะใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการทำกิจกรรมที่อาจสุ่มเสี่ยง เช่น ถ้าเราอยากออกมาป่าวประกาศถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ถ้าเราเป็นเกย์อยู่ในประเทศที่ลงโทษเพศสภาพทางเลือก หรือถ้าเราเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือนักต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ล่ะ เราจะใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรให้ปลอดภัย คำตอบคือการเข้ารหัสข้อมูล  

การเข้ารหัสคือการทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่ไม่สามารถอ่านได้แม้จะเข้าถึงได้ ยกเว้นคนที่ถูกระบุว่าเป็นผู้รับปลายทาง ทุกวันนี้เว็บไซต์หลายแห่งรองรับการเข้ารหัส โดยเฉพาะบริการที่ต้องการความปลอดภัยสูงอย่างธนาคารออนไลน์ แต่บริการส่วนมากยังไม่รองรับการเข้ารหัส หรืออาจรองรับแต่ไม่ได้ตั้งเป็นค่าพื้นฐาน ถึงกระนั้นเราก็สามารถเลือกใช้บริการเสริมที่ช่วยเข้ารหัสข้อมูลของเราได้ วิธีการง่ายๆ มีดังนี้

  • เข้าสู่เว็บที่รองรับการเข้ารหัสแบบ HTTPS ซึ่งจะช่วยปกปิดไม่ให้ไอเอสพีเข้าถึงข้อมูล ทว่าไอเอสพีก็ยังคงรู้ว่าเรากำลังเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องไหนอยู่ดี 
  • ใช้บริการเข้ารหัสข้อมูลแบบ VPN และ Tor

 

 

ความเป็นส่วนตัวกับโซเชียลมีเดีย

โซเชียลมีเดียถูกออกแบบมาเพื่อให้เราแชร์ตัวตนของเราลงในโลกออนไลน์และได้ทลายเส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตสาธารณะ ทุกวันนี้เราเปิดเผยข้อมูลตัวเราลงในโซเชียลมีเดียมากกว่าที่เราจะจดจำได้ เช่นเฟสบุ๊คที่คอยเตือนว่าในวันนี้เมื่อปีที่แล้วเรากำลังทำอะไรอยู่ ทั้งที่เราเองก็ลืมไปแล้ว บ่อยครั้งเราอาจต้องการแบ่งปันเรื่องราวบางอย่างกับเพื่อนฝูงในวงจำกัด แต่คนไม่รู้จักหรือเพื่อนของเพื่อนกลับเข้าถึงเรื่องราวที่อาจมีความเป็นส่วนตัวสูงนี้ได้ด้วย  

ผู้ให้บริการส่วนมากจะอนุญาตให้เปลี่ยนค่าความเป็นส่วนตัวได้ ดังนั้นเราควรอ่านนโยบายความเป็นส่วนตัวและปรับการตั้งค่าเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวให้มากที่สุด รวมถึงหมั่นตรวจเช็คนโยบายความเป็นส่วนตัวของบริการที่ใช้ เนื่องจากโซเชียลมีเดียมักมีการปรับเปลี่ยนนโยบายและรูปแบบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวตลอดเวลา ซึ่งทำให้คำแนะนำเรื่องวิธีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเช่นกัน 

ในที่นี้เราจะมาลองดูวิธีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบริการยอดฮิตอย่างเฟสบุ๊คและกูเกิล เพื่อให้เห็นแนวทางที่อาจนำไปประยุกต์ใช้กับบริการอื่นๆ ได้

 

การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในเฟสบุ๊ค 

เฟสบุ๊คกลายเป็นสื่อเครือข่ายสังคมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และเราก็มีแนวโน้มที่จะแชร์เรื่องราว ความเห็น รวมถึงข้อมูลส่วนตัวมากมายในนั้น โมเดลในการหารายได้ของเฟสบุ๊คคือ การติดตามกิจกรรมออนไลน์ของเราทั้งในและนอกเฟสบุ๊คเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้เลือกโฆษณาตามความสนใจของเรา 

แม้วิธีที่ดีที่สุดที่จะสร้างความเป็นส่วนตัวจากเฟสบุ๊คคือ เลิกใช้มันซะ! แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะเฟสบุ๊คมีประโยชน์มากมาย เช่น ใช้แชร์ห้วงเวลาดีๆ กับครอบครัว ใช้พูดคุยกับเพื่อนที่ไปเรียนต่อหรือทำงานอีกซีกโลก ใช้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง จะเรียกว่าเฟสบุ๊คกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้วก็ได้  

แล้วเราจะใช้เฟสบุ๊คโดยที่ยังรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ให้ได้มากที่สุดอย่างไร? การเรียนรู้วิธีตั้งค่าง่ายๆ จะช่วยเพิ่มความเป็นส่วนได้ดังนี้10 

  • การกำหนดว่าใครเห็นโพสต์เราได้บ้าง 

การจำกัดวงคนที่มีสิทธิเห็นโพสต์ของเราในเฟสบุ๊คนั้นทำได้ง่ายนิดเดียว 

เริ่มจากให้มองหาไอคอนลูกศรด้านขวาบน แล้วเลือกที่ “การตั้งค่า” จากนั้นตรงแถบด้านซ้ายมือ ให้เลือก “ความเป็นส่วนตัว”

              

ภายใต้หัวข้อ “ใครบ้างที่สามารถเห็นโพสต์ในคราวต่อๆ ไปของคุณได้” ให้กดที่ “แก้ไข” แล้วคุณจะเลือกได้ว่าอยากให้ใครเห็นโพสต์ของคุณบ้าง โดย “สาธารณะ” คือใครก็เห็นได้ “เพื่อน” คือเฉพาะคนที่เป็นเพื่อนในเฟสบุ๊คเท่านั้น “เพื่อนทุกคนยกเว้น” คือเพื่อนบนเฟสบุ๊ค ยกเว้นคนที่คุณกรอกชื่อลงไป “เพื่อนที่เจาะจง” คือเฉพาะเพื่อนที่ระบุชื่อลงไป “เฉพาะฉัน” คือเฉพาะตัวเรา นอกจากนั้นคุณยังสามารถกำหนดการเห็นโพสต์ตามพื้นที่และกลุ่มต่างๆ ได้ด้วย

 

 

สิ่งที่เราควรรู้คือ การตั้งค่าใน “ใครบ้างที่สามารถเห็นโพสต์ในคราวต่อๆ ไปของคุณได้” จะมีผลสำหรับการโพสต์ในอนาคต หากเราไม่อยากให้ใครก็ไม่รู้ไปส่องเรื่องราวที่เราโพสต์ไว้ในอดีต ให้ไปที่หัวข้อ “การจำกัดผู้เข้าชมสำหรับโพสต์ก่อนหน้าบนไทม์ไลน์ของคุณ” และเลือก “จำกัดโพสต์ในอดีต” แค่นี้คนที่ไม่ใช่เพื่อนก็ไม่มีสิทธิเข้าไปดูโพสต์ย้อนหลังของเราได้

 

คุณยังกำหนดคนที่สามารถค้นหาตัวคุณได้ด้วย ภายใต้หัวข้อ “ใครที่สามารถค้นหาคุณโดยใช้ที่อยู่อีเมลที่คุณระบุได้บ้าง” และ “ใครที่สามารถค้นหาคุณโดยใช้เบอร์โทรศัพท์ที่คุณระบุไว้” อันที่จริง คุณไม่ควรให้ข้อมูลนี้กับเฟสบุ๊คอยู่แล้วหากคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว แต่ถ้าจะให้ข้อมูลดังกล่าว คุณก็ควรกำหนดวงให้แคบที่สุดเท่าที่เฟสบุ๊คจะอนุญาต  

 

 

แล้วถ้าไม่อยากให้เพื่อนหรือคนรู้จักมาแท็กภาพหรือเรื่องราวของคุณแล้วไปปรากฏบนไทม์ไลน์ของเราโดยอัตโนมัติ ให้ไปที่ “ไทม์ไลน์และการแท็ก” ตรงแถบด้านซ้ายมือ ภายใต้หัวข้อ “ตรวจสอบโพสต์ที่เพื่อนร่วมงานแท็กคุณก่อนที่โพสต์จะปรากฏบนไทม์ไลน์ของคุณหรือไม่” ให้เลือก “เปิดใช้งาน” แค่นี้ภาพหรือเรื่องราวที่ถูกแท็กมาก็จะต้องได้รับอนุญาตจากเราก่อนที่จะไปปรากฏบนไทม์ไลน์ (แต่โพสต์ที่เพื่อนแท็กเรามาก็ยังไปปรากฏที่อื่นได้อยู่ดี) นอกจากนั้นเรายังสามารถเลือกหัวข้อ “ใครที่สามารถเห็นโพสต์ที่คุณถูกแท็กในไทม์ไลน์ของคุณได้บ้าง” และเลือกจำกัดคนที่เห็นได้ตามต้องการ

 

 

  • ความเป็นส่วนตัวกับโฆษณาบนเฟสบุ๊ค 

เฟสบุ๊ครู้พฤติกรรมออนไลน์ของเราแทบทุกอย่าง บางครั้งเราอาจเบื่อที่จะต้องเห็นโฆษณาซ้ำๆ แม้จะไม่สามารถห้ามเฟสบุ๊คไม่ให้มาติดตามพฤติกรรมออนไลน์ของเราได้ แต่เราสามารถจำกัดการใช้ข้อมูลเหล่านั้นโดยเฟสบุ๊คได้

เริ่มแรกให้เลือกที่ “โฆษณา” ตรงแถบซ้ายมือของหน้าการตั้งค่า จากนั้นให้เลือกหัวข้อ “การตั้งค่าโฆษณา” เราจะสามารถเลือก “ปิด” ตรง “โฆษณาตามการใช้งานเว็บไซต์และแอพของคุณ” ได้ ถ้าคุณไม่ต้องการเห็นโฆษณาที่มาจากการใช้งานบนเว็บไซต์และแอปของเราบนเฟสบุ๊ค (แต่ต้องเข้าใจว่า แม้จะไม่เห็นโฆษณาซ้ำๆ ที่เฟสบุ๊คเลือกจากความสนใจของเรา แต่ก็ยังต้องดูโฆษณาอื่นๆ อยู่ดี) 

 

 

นอกจากนั้น คุณสามารถเลือก “ไม่” ตรงหัวข้อ “โฆษณาบนแอพและเว็บไซต์ภายนอกบริษัทต่างๆ ของ Facebook” เพื่อป้องกันไม่ให้แอปและเว็บไซต์อื่นๆ ใช้ข้อมูลจากเฟสบุ๊คมากำหนดโฆษณาตามความสนใจของเรา

 

 

แล้วถ้าเราอยากรู้ว่าเฟสบุ๊คกำหนดความสนใจของเราอย่างไร ลองเลือกที่ “ความสนใจของคุณ” ที่อยู่ในหน้า “การกำหนดลักษณะโฆษณาของคุณ” จากนั้นระบบจะแสดงเว็บและกิจกรรมที่เฟสบุ๊คคิดว่าเราสนใจ ซึ่งเราสามารถ “ลบ” ความสนใจที่เราคิดว่าไม่ใช่ตัวเราออกไปได้

 

 

Google กับความเป็นส่วนตัว

เราอาจคุ้นเคยกับกูเกิลในฐานะเครื่องมือค้นหาหรือเสิร์ชเอ็นจิ้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก แต่ที่จริงแล้วกูเกิลยังเป็นเจ้าของบริการออนไลน์สำคัญหลายอย่างที่เราคุ้นเคย เช่น จีเมล, ยูทูบ, โครม, กูเกิลแมปส์, กูเกิลเพลย์ และบริการอื่นๆ อีกมากมาย แน่นอนว่ากูเกิลเก็บข้อมูลพฤติกรรมออนไลน์ของเราและใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อหารายได้จากโฆษณา แต่เราสามารถเข้าไปดูได้ว่ากูเกิลรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเรา รวมถึงควบคุมการใช้ข้อมูลของเราได้ ดังนี้11

 

  • การลบประวัติข้อมูลและหยุดการติดตาม

แม้กูเกิลจะบันทึกการค้นหาของเราไว้ทั้งหมด แต่เราสามารถลบประวัติการใช้งานของเราได้ เช่น ถ้าเราไปค้นอะไรที่ดูตลกหรือน่าอับอายแล้วไม่อยากให้ข้อมูลเหล่านั้นถูกเก็บไว้ ให้เข้าไปที่หน้าบัญชีกูเกิลของคุณ (https://myaccount.google.com) จากนั้นให้เลือกที่ “ไปยังกิจกรรมของฉัน” 

 

 

ในหน้านี้เราจะเห็นว่ากูเกิลเก็บข้อมูลกิจกรรมออนไลน์อะไรไว้บ้าง เช่น เราเข้าดูวิดีโออะไรบ้าง เราใช้คำค้นว่าอะไร ให้เราเลือก “ลบกิจกรรมโดย” (Delete activity by) ซึ่งจะเลือกลบเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องการหรือลบทั้งหมดเลยก็ได้ รวมทั้งสามารถเลือกเฉพาะบริการที่ต้องการลบข้อมูล เช่น บริการเสียง บริการ Chrome หรือลบในทุกบริการก็ได้ 

 

 

นอกจากบริการคำค้นที่ถูกบันทึกเอาไว้ ยังมีข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น ข้อมูลคำค้นด้วยเสียง (มีการบันทึกเสียงเอาไว้) หรือข้อมูลการเดินทางของเราผ่านบริการกูเกิลแมปส์ โดยเราสามารถลบบันทึกข้อมูลเหล่านี้ได้เช่นเดียวกับบันทึกคำค้นข้างต้น 

นอกจากนั้น หากคุณต้องการให้กูเกิลหยุดติดตามข้อมูลการค้นหา ให้เข้าไปที่ “ควบคุมกิจกรรม” (activity controls) และเลือกปิดบริการและกิจกรรมที่คุณไม่ต้องการให้เก็บข้อมูล อาทิ กิจกรรมบนเว็บและแอป ประวัติตำแหน่ง ข้อมูลอุปกรณ์ กิจกรรมเสียงพูดและเสียง ประวัติการค้นหาบนยูทูบ และประวัติการดูยูทูบ 

 

 

  • การควบคุมข้อมูลโฆษณา

กูเกิลสร้างรายได้จากโฆษณา ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราสามารถใช้บริการทั้งหลายในเครือกูเกิลได้ฟรี ดังนั้นเมื่อเราใช้เสิร์ชเอ็นจิ้น เราจะเห็นโฆษณาที่คล้ายคำค้นหา หรือเมื่อเราท่องเว็บ อ่านอีเมล ดูยูทูบ เราจะเห็นโฆษณาที่กูเกิลคาดว่าตรงกับความสนใจของเรา

ข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของเราจะถูกเก็บรวบรวมและสร้างเป็นฐานข้อมูล “หัวข้อที่คุณชอบ” เพื่อใช้ในการเลือกโฆษณาตามความสนใจของเรา โฆษณาดังกล่าวไม่ได้ปรากฏบนบริการของกูเกิลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเว็บไซต์และแอปอีกนับล้านรายการที่เป็นพาร์ตเนอร์กับกูเกิลด้วย 

แม้กูเกิลจะมีนโยบายไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเราให้กับผู้เผยแพร่โฆษณา แต่บางครั้งเราก็อาจไม่ต้องการเห็นโฆษณาบางอย่างแม้จะตรงกับความสนใจของเราก็ตาม ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นมะเร็งแล้วใช้คำค้นหาข้อมูล ก็คงไม่อยากเห็นโฆษณาที่คอยย้ำเตือนว่าเราเป็นโรคร้ายตลอดเวลา หรือถ้าคุณไปค้นคำเกี่ยวกับเพศเพื่อหาข้อมูลทำการบ้านวิชาสุขศึกษา คุณก็คงไม่อยากเห็นโฆษณายาคุมกำเนิดหรือไวอากร้าแน่ๆ

เราสามารถเข้าไปดูได้ว่ากูเกิลคิดว่าเราสนใจเรื่องอะไรได้ที่หน้าบัญชีหลักของกูเกิล โดยเลือกหัวข้อ “การตั้งค่าโฆษณา” จากนั้นเลือก “จัดการเครื่องมือตั้งค่าโฆษณา” 

 

เมื่อเข้ามาในหน้าการจัดการเครื่องมือตั้งค่าโฆษณา ให้คลิกตรง “หัวข้อที่คุณชอบ” เพื่อดูว่ากูเกิลคิดว่าเราสนใจเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเราสามารถนำหัวข้อเหล่านั้นออกหรือใส่หัวข้อที่เราชอบอันอื่นเข้าไปแทน

 

 

นอกจากนั้นเรายังสามารถเลือกปิด “การปรับเปลี่ยนโฆษณาในแบบของคุณ” ได้ เท่านี้เราก็ไม่ต้องเห็นโฆษณาบางหัวข้อที่กูเกิลเลือกจากพฤติกรรมออนไลน์ของเรา (แต่เราจะยังเห็นโฆษณาในจำนวนเท่าเดิมอยู่ เพียงแต่ไม่ใช่โฆษณาที่ปรับตามความสนใจของเรา)

 

 

การจัดการชื่อเสียงออนไลน์

อินเทอร์เน็ตทำให้ประเด็นความเป็นส่วนตัวซับซ้อนมากขึ้น ในโลกที่วัฒนธรรมการแชร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เราต้องตระหนักว่าทุกครั้งที่แชร์ข้อมูล แสดงความเห็น โพสต์วิดีโอ หรือส่งรูปภาพตัวเองให้เพื่อนหรือคนรู้จัก เรากำลังเปิดเผยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้โลกได้รับรู้ และสิ่งเหล่านี้จะกระทบกับชื่อเสียงของเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เราต้องถามตัวเองว่าใครสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้บ้าง และเรา (รวมถึงคนที่เราแชร์ข้อมูลของเขา) รู้สึกอย่างไรที่คนเหล่านั้นจะเห็นข้อมูล ข้อมูลบางอย่างอาจเป็นข้อมูลธรรมดาที่เราอาจคิดไม่ถึงว่าจะส่งผลร้ายกับตนเองหรือคนรอบตัวในอนาคต ตัวอย่างเช่น การแชร์ที่อยู่ในโซเชียลมีเดียอาจทำให้คนแปลกหน้ารู้จักบ้านของเรา หรือเราอาจเขียนบางข้อความด้วยอารมณ์ชั่ววูบ แต่กระทบกับชื่อเสียงในภายภาคหน้า เช่น ผู้ที่คัดเลือกคนเข้าเรียนต่อหรือทำงานอาจใช้ร่องรอยดิจิทัลในโลกออนไลน์ในอดีตมาตัดสินคุณโดยไม่เข้าใจบริบท ดังนั้นเราจึงควรถามตัวเองเสมอว่า สิ่งที่โพสต์จะมีผลกับเราใน 1 เดือนข้างหน้า 1 ปีข้างหน้า หรือ 10 ปีข้างหน้าหรือไม่

สุดท้าย การจัดการชื่อเสียงออนไลน์ยังต้องคำนึงถึงชื่อเสียงของผู้อื่นด้วย การที่เพื่อนของเราแชร์ข้อมูลให้เรารู้ ไม่ได้แปลว่าเขาอยากให้เราแชร์ข้อมูลของเขาออกไปในวงกว้าง

 

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สุขภาพกับการใช้งานเทคโนโลยี